วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้อคิดเห็นจากการอ่าน "การพัฒนาหลักสูตร"


ข้อคิดเห็นจากการอ่าน

“การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ”

                ได้อ่านหนังสือ ชื่อ “การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ” ซึ่งเขียนโดย ท่านอาจารย์ ผศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ แล้ว  ขออนุญาตนำวิธีการของกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้การวิจัยเป็นฐาน มาประกอบการแสดงความคิดเห็น ดังนี้

                ขั้นที่ 1 การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ผู้เขียนได้วิเคราะห์สาระความรู้ “การพัฒนาหลักสูตร” จากมาตรฐานคุรุสภา  โดยนำมาจัดระบบเรียบเรียงตามกระบวนการพัฒนาหลักสูตร การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การจัดระบบหลักสูตร และการประเมินหลักสูตร ได้นำเสนอแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
หลักสูตร และปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตร

                ขั้นที่ 2 กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของแต่ละหน่วย และแต่ละบทเรียน มีการกำหนดเนื้อหาสาระ
ในแต่ละบทเรียนไว้อย่างชัดเจน เช่น บทที่ 1 การพัฒนาหลักสูตร : นิยาม แบบจำลอง และทฤษฎีหลักสูตร และได้กำหนดผลการเรียนรู้ เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น

                ขั้นที่ 3 การพัฒนาบทเรียน
                1. การออกแบบการเรียนรู้
                2. การกำหนดคุณลักษณะของเครื่องมือ มีการประเมิน มีการประเมินจากกิจกรรมท้ายบท ให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ให้ทำการวิพากษ์ วิจารณ์ สังเคราะห์ วิเคราะห์ ตามประเด็นที่กำหนดให้ เช่น การวิเคราะห์ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กับทฤษฎีหลักสูตร การศึกษาแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร และเลือกมาใช้พัฒนา
หลักสูตร เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ด้วนตนเอง (Constructivist Learning Approach)
                3. การออกแบบหรือเลือกเครื่องมือประเมิน เครื่องมือประเมินที่เป็นกิจกรรมท้ายบท มีความสอดคล้องเหมาะสมกับเนื้อหาของแต่ละบท คำถามในแต่ละกิจกรรมมีความหลากหลาย เน้นให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนอย่างลึกซึ้ง แตกฉาน เชื่อมโยงกับการนำไปใช้จริงกับภาระงานที่ปฏิบัติอยู่

                ขั้นที่ 4 การเรียนการสอน/การเรียนรู้
                1. มีการวิเคราะห์จุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ชัดเจน ว่าต้องการให้ครู อาจารย์ ผู้สอน ทุกคนได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และให้โรงเรียนหรือสถาบัน ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการศึกษา ใช้เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจในการจัดการศึกษา และกำกับดูแลหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
                2. การวางแผนการจัดการเรียนรู้ มีการกำหนดขอบข่ายของเนื้อหาของเอกสารไว้จำนวน 5 บท โดยเรียงลำดับเนื้อหา  เป็นไปตามลำดับขั้นการเรียนรู้ จากสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก่อนไปหาสิ่งที่ต้องเรียนรู้ทีหลัง เริ่มจาก
                - บทที่ 1 การพัฒนาหลักสูตร : นิยาม แบบจำลอง และทฤษฎีหลักสูตร
                - บทที่ 2 การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning)
                - บทที่ 3 การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design)
                - บทที่ 4 การจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize)
                - บทที่ 5 การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation)
                3. การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ นอกจากการทำกิจกรรมข้างท้ายของแต่ละบทแล้ว ตอนต้นของเอกสารได้กำหนดกิจกรรมของการเรียนรู้ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่
                1) การศึกษาเรียนรู้และการสะท้อนความคิดเห็น
                2) การมีส่วนร่วม สัมมนา อภิปราย
                3) การสืบเสาะค้นหา เพื่อสรุป และนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร
                4) วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร
                5) การเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัย และสร้างสรรค์ กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
                4. การสรุป/การวิพากษ์ความรู้ มีการสรุปความรู้เป็นลำดับขั้น แยกเป็นประเด็นเรียงลำดับตามหัวข้อ
 มีตาราง แผนภูมิ แผนภาพประกอบ ทำให้อ่าน และทำความเข้าใจได้โดยง่าย และในภาคผนวก ได้มีตัวอย่างชิ้นงาน สรุปการเรียนรู้ “การพัฒนาหลักสูตร” ทำให้เกิดมโนทัศน์ เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                ขั้นที่ 5 การประเมินคุณภาพ
                 ได้กำหนดผลการเรียนรู้หลังจากศึกษาเอกสาร คือ
                    5.1 มีความรู้ในสาระสำคัญ ในการนิยามคำว่า หลักสูตร และงานการพัฒนาหลักสูตร
                    5.2 มีความสามารถในการจำแนกสาระที่เป็นปัจจัยสำคัญ ในการให้ความหมายของทฤษฎีหลักสูตร
                    5.3 ได้ประสบการณ์การเรียนรู้ในการวางแผน ออกแบบ จัดระบบ และประเมินด้านหลักสูตร
                    5.4 มีความสามารถในการสร้างหลักสูตร โดยอาศัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
                    5.5 มีความสามารถในการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตร

                ประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้จากการอ่าน
                กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ (Tyler’s Model Curriculum Development)
                การตอบคำถามข้อที่ 1 จะเอาอะไรมาสอน แหล่งข้อมูลจากตัวผู้เรียน ข้อมูลจากผู้รู้ และข้อมูลพื้นฐานทางสังคม
                การตอบคำถามข้อที่ 2 นำข้อมูลที่ได้เข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง ดูพื้นฐานทางปรัชญา (Philosophy) พื้นฐานทางจิตวิทยา (Psychology) และพื้นฐานทางสังคม (Social) และทำการออกแบบ (Design)
                การตอบคำถามข้อที่ 3 จะจัดการสอนให้ผู้เรียนอย่างไร ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตร
               การตอบคำถามข้อที่ 4 การประเมิน (Evaluation) ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ แบ่งการประเมินเป็น 2 ส่วน คือ
                    1) ประเมินหลักสูตร
                    2) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
               กระบวนการพัฒนาหลักสูตร ตามหลักการของไทเลอร์ ในข้อที่ 4 การประเมินว่าหลักสูตรมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลหรือไม่ โดยประเมินที่ตัวหลักสูตรและผลสัมฤทธิ์เท่านั้น ซึ่งคิดว่ายังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนอีกหลายประการ เช่น คุณภาพของครูผู้สอน การบริหารจัดการ วิธีปฏิบัติการนำหลักสูตรสู่ห้องเรียน ตัวนักเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ปกครอง เป็นต้น

                ครูที่ดีใช้แทนหลักสูตรที่ไม่ดีได้ แต่หลักสูตรที่ดีใช้แทนครูที่ไม่ดีไม่ได้ หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ผ่านกระบวนการสร้าง และพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมากมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้ผลผลิต หรือตัวผู้เรียนมีคุณภาพสูงขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ ปัจจัยที่จะทำให้คุณภาพผู้เรียนสูงขึ้นมีมากมาย ไม่ใช่เพียงเฉพาะ
ตัวหลักสูตร ความรู้ความสามารถของครูในการใช้หลักสูตร และการนำหลักสูตรลงสู่ห้องเรียน ยังมี Inputs ต่างๆ อีก เช่น ตัวผู้เรียน สื่ออุปกรณ์ การบริหารจัดการภายในโรงเรียน เป็นต้น  นอกจากนั้นหัวใจของการพัฒนาผู้เรียน คือครู เมื่อจะกำหนดหลักสูตรแบบใด ก็ต้องพัฒนาครูควบคู่ไปด้วย ที่ผ่านมาต้องใช้เวลามากในการทำความเข้าใจกับการใช้หลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง และเห็นด้วยกับ โบแชมป์ (Beauchamp,1975:164-169) ที่กล่าวว่าสิ่งที่ควรคำนึงถึง ในการนำหลักสูตรไปใช้ ให้เห็นผลตามเป้าหมาย คือครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร ผู้บริหารต้องเน้นความสำคัญ และสนับสนุน แต่ในสภาพความเป็นจริง คือ หลักสูตรถูกจัดทำไว้แล้วในภาพใหญ่เป็นแกนกลาง 70% และให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรที่เป็นสาระเพิ่มเติมเป็นของโรงเรียน 30% แต่ครูที่จัดทำก็มักเป็นครูวิชาการเสียส่วนใหญ่ ครูผู้สอนเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย ปัญหาที่สำคัญ คือ โรงเรียนจัดทำหลักสูตรไว้ แต่การใช้หลักสูตรยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะครูบางส่วนให้ความสำคัญกับหนังสือเรียนจากสำนักพิพพ์มากกว่า

 

 

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์ "เจ้าพ่อการตลาด"

 

          ไกรฤทธิ์ บุณยเกรียติ ผู้สร้างสรรค์ “เจ้าพ่อการตลาด” ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ไว้ เพื่อ
           1.เป็นกำลังใจ เพื่อนักขายและนักการตลาดทั้งหลาย ให้มองอะไร ให้กว้างและไกล คิดอะไรให้ลึก ในขณะที่ไต่บันไดชีวิตการตลาดของตนอยู่
           2. บอกกล่าวให้ผู้น้อยเนื้อต่ำใจทุกคน ว่ายังมีหนทางก้าวหน้าอยู่เสมอ ถ้าคุณช่วยตนเอง และเป็นคนดีอย่าง ฯพณฯสมชาย
          3. เป็นเรื่องราวสำหรับอ่านประกอบ เสริมประสบการณ์ทางการตลาดของนักเรียน ที่กำลังศึกษาด้านนี้ เพื่อสะท้อนประสบการณ์ และข้อสังเกตทางการตลาดในชีวิตจริง

           จากวัตถุประสงค์ของผู้เขียน “เจ้าพ่อการตลาด”ข้างต้น ประกอบกับการอ่านเรื่องราวชีวิตของ  เด็กชายสมชาย พัฒนาเป็นนายสมชาย บรรลุถึงฯพณฯสมชาย และในที่สุดเป็นพระภิกษุสมชาย โดยเนื้อหาเป็นชีวิตของนักการขาย (salesman) นักการตลาด (marketingman)ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด แล้วกลับคืนสู่สามัญ ด้วยการคิด การตัดสินใจของตนเอง ซึ่งเป็นทั้งอุทาหรณ์และแรงบันดาลใจ ของผู้ที่ดำเนินชีวิตหรือจะเลือกดำเนินชีวิต เป็นนักการขาย นักการตลาดก็ตาม แต่ก็สามารถนำเนื้อหา ข้อคิด ไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์ทางด้านศาสตร์ต่างๆได้หลายสาขา รวมทั้งศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนการสอน ปรัชญาการศึกษา รูปแบบของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กล่าวคือ

ทางด้านทฤษฎีการสอน
          ทักษะทางด้านการศึกษาของสมชาย ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทางสังคม การเมือง ตลอดจนชีวิตครอบครัว คือ ความสามารถทางภาษาต่างประเทศ หรือเชาว์ปัญญาทางภาษา ที่โดดเด่น ซึ่งเป็นการยืนยัน ทฤษฎีการสอนแบบพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งมีแนวคิดว่า “สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้าน ที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหน แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป” (Gradner,1983)
          การ์ดเนอร์ให้นิยามคำว่า เชาว์ปัญญา (Intelligence) ไว้ว่า “ความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมต่างๆ หรือการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง รวมทั้งความสามารถในการตั้งปัญหา เพื่อจะหาคำตอบและเพิ่มพูนความรู้” การ์ดเนอร์มีความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ
          1. เชาว์ปัญญาของมนุษย์ มิได้มีเพียงความสามารถทางภาษา และทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่มีอยู่หลากหลายถึง 8 ประเภทด้วยกัน ซึ่งเขาบอกว่า ความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ คนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากคนอื่น และมีความสามารถในด้านต่างๆไม่เท่ากัน ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมา ทำให้คนแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
          2. เชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคลจะไม่อยู่คงที่ อยู่ที่ระดับที่ตนมีตอนเกิด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม

ทางด้านปรัชญาการศึกษา
          การที่สมชายเป็นคนที่มีความขยันขันแข็ง อดทน มีมนุษยสัมพันธ์ มีความใฝ่สูงมองการณ์ไกล เป็นคนมีเหตุผลทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตทางสังคม เป็นคนดีมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เมื่อคราวที่สมชายอยู่ที่อังกฤษ ได้เกิดวิกฤติปัญหาด้านการตลาดกับบริษัทที่สมชายเคยทำงานตอนอยู่เมืองไทย สมชายยอมกลับมาช่วยตามคำขอร้องของประธานกรรมการบริษัท ที่มีบุญคุณต่อเขา ทั้งๆที่ถ้าเขาอยู่ที่ประเทศอังกฤษหน้าที่การงานของเขาจะก้าวหน้ากว่ามาก เป็นเพราะเขามีความกตัญญูกตเวที อันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของคนดี จึงปรับเข้ากับปรัชญาการศึกษา ปรัชญานิรันตรนิยม (Perennialism) (กาญจนา คุณารักษ์,2553:79-80) ซึ่งมีพื้นฐานความเชื่อ มาจากปรัชญานวโทมัส (neo-Thomism) มีต้นคิดมาจากอริสโตเติล (Aristotle) และเซนต์ โทมัส อควิแนส (St. Thomas Aquinas) ซึ่งสนใจในเรื่องของเหตุผล (a word of reason) กล่าวคือ มีความเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถที่จะใช้ความคิด ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้ สิ่งมีชีวิตอื่นๆไม่มีและทำไม่ได้ มนุษย์ใช้ความคิดและเหตุผลที่ติดตัวมาแต่กำเนิดตลอดเวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ ความรู้มิได้เกิดจากการประจักษ์หรืออายตนะ แต่เกิดจากการหาเหตุผล ส่วนความดีและความงามนั้นเชื่อว่า การพัฒนาความดีของแต่ละคนไม่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม หากต้องอาศัยวินัยในตนเอง และยึดมั่นในสิ่งที่ดีงาม ความเชื่อพื้นฐานของนักปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดนิรันตรนิยม คือ
          1. มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความดีอยู่ในตน และสนใจต่อศาสนาโดยกำเนิดอยู่ในตัว           2. ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์จะยังคงเหมือนกันอยู่ทุกกาลเทศะ แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างกัน หรือเปลี่ยนแปลงไป ความจริงย่อมเหมือนกันทุกแห่งหน
          3. สิ่งที่ถือว่าสำคัญสูงสุดของมนุษย์ คือ สติปัญญา และความมีอิสระ
          4. มนุษย์มีความจำเป็นในการสืบทอดวัฒนธรรม

ทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
          การประสบความสำเร็จในอาชีพนักการตลาดขั้นสูงสุดของสมชาย เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน เริ่มจากการเป็นนักการขาย (salesman) ตระเวนเสนอขายสินค้าตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ทำให้สมชายมีความรู้ในความต้องการ ลักษณะ และแนวโน้มในการบริโภคของประชาชน เมื่อสมชายมีโอกาสได้เป็นผู้จัดการฝ่ายตลาดของบริษัท แมส คอนซูมเมอร์ มาร์เกตติ้ง สาขาประเทศไทย เขาได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์จากที่เคยเป็นนักการขาย มาใช้ในการวิเคราะห์ตลาด และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้เป็นประธานกรรมการของบริษัทฯสาขาประเทศไทย จากความรู้ ความสามารถในการบริหารธุรกิจของเขาทำให้ชีวิตหักเหให้เขาได้เป็น ผู้ว่าการการน้ำมันแห่งชาติ จนในที่สุดได้เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศปาซีเฟีย เขาก็ใช้ประสบการณ์ และการมีมนุษยสัมพันธ์ มาใช้ในการแก้ปัญหาสำคัญๆให้ลุล่วงไปทุกครั้ง ถ้าวิเคราะห์พฤติกรรมการดำเนินชีวิตนักการตลาดของ ฯพณฯสมชาย กับรูปแบบของหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน ก็สามารถปรับเข้าได้กับ หลักสูตรประสบการณ์ (Experience Curriculum) ซึ่งยึดหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ และประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงเน้นเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนโดยวิธีการแก้ปัญหา ผู้เรียนต้องรู้จักการแก้ปัญหา แสดงออกด้วยการลงมือกระทำ ลงมือวางแผน เพื่อหาประสบการณ์อันเกิดจากการแก้ปัญหานั้นๆด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนแบบการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (Learning by Doing)
          ในการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experience Learning) ทิศา แขมณี (2545:131) ให้ความหมายและหลักการไว้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ หมายถึง การดำเนินการอันจะช่วยให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายโดยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (experience) ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ในเรื่องที่เรียนรู้ก่อน และให้ผู้เรียนสังเกต ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองร่วมกัน จนกระทั่งผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสมมติฐานต่างๆในเรื่องที่เรียนรู้ แล้วจึงนำความคิด หรือสมมติฐานเหล่านั้นไปทดลอง หรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆต่อไป ประสบการณ์เป็นแหล่งที่มาของการเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดความคิด ความรู้ และการกระทำต่างๆ (Kolb, 1984) ได้เสนอวัฏจักรของกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือ
          1. ขั้นการรับประสบการณ์ (Concrete Experience = CE)
          2. ขั้นการสังเกตอย่างไตร่ตรอง (Reflective Observation = RO)
          3. ขั้นการสร้างแนวคิดเชิงนามธรรม (Abstract Conceptualization = AC) และ
          4. ขั้นการทดลองประยุกต์หลักการไปใช้ในสภาพการณ์ใหม่ (Active Experimentation = AE)

ทางด้านพุทธปรัชญา
          ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของ ฯพณฯสมชาย ย่อมมีความเสื่อมและดับไป ในบั้นปลายชีวิตของสมชาย       ต้องสูญเสีย บุตร ภรรยาอันเป็นที่รัก ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันทรงเกรียติ ในที่สุดสมชายก็ได้สละทุกสิ่งทุกอย่างในทางโลกเข้าหาร่มกาสาวพัสตร์ บวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาที่บ้านเกิด จ.สงขลา ซึ่งก็เป็นไปตามสัจธรรมของโลก ใน อภิปรัชญาพุทธศาสน์ ขอบข่ายแนวคิดหนึ่งของ พุทธปรัชญา (กาญจนา คุณารักษ์,2553:90,102) ซึ่งหมายถึง ปัญญาหรือความรู้แจ้งในความเป็นจริงทั้งหลาย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม พุทธปรัชญาเป็นปรัชญาสัจนิยม เป็นความรู้อันประเสริฐ อันเลิศอันสูงสุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากญาณ (insight) อันเป็นผลของการปฏิบัติจิต อภิปรัชญาพุทธศาสน์ เป็นพุทธปรัชญาที่ว่าด้วยความจริงทั้งหลาย เรียกว่า สัจธรรมซึ่งมีหลายด้าน สำหรับสัจจธรรมเกี่ยวกับโลก พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริง เกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงในโลกหลายประการเฉพาะความจริงของสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลกนี้ มีสามลักษณะ เรียกว่า ไตรลักษณ์ (three characteristics of existence) ประกอบด้วย
          1. อนิจจตา (impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
          2. ทุกขตา (stress and conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่ง ให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้
          3. อนัตตตา (saullessness) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนของมันเอง
                                                      ----------------------------
อ้างอิง
กาญจนา คุณารักษ์. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร. นครปฐม:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ไกรฤทธิ์ บุณยเกีรติ. เจ้าพ่อการตลาด.กรุงเทพฯ:สารมวลชน, 2532.
ทิศนา แขมณี. ศาสตร์การสอน:องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ:       
          สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.
rppiyachan.file.wordpress.com
                                                          ---------------------------

โดย

สมาพร มณีอ่อน  สาขาหลักสูตรและการนิเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลักสูตร คืออะไร

 

ความหมายทั่วไปของหลักสูตร
       คำว่า “หลักสูตร” ภาษาอังกฤษ เขียนว่า Curriculum มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “currere” หมายถึง “race – course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งขัน เมื่อนำมาใช้ในบริบทของการศึกษา จึงหมายถึง running sequence of courses or learning experience เปรียบเสมือน เส้นทางที่ผู้เรียน จะต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ นำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ (วิชัย วงษ์ใหญ่,2554:105)
       ความหมายของ“หลักสูตร” ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2546 คือ ประมวลวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ความหมายของหลักสูตรของนักวิชาการต่างประเทศ
       ความหมายของหลักสูตร ตามความเชื่อทางการศึกษาและความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในส่วนนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของหลักสูตรไว้ โดยสรุปดังนี้ (มาเรียม นิลพันธุ์,2543 : 6)
       คาสเวลและแคมเบล (Caswell and Cambell, 1935 : 66) ได้ให้คำจำกัดความว่า หลักสูตรเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยประสบการณ์ทั้งมวลของเด็ก ภายใต้การแนะแนวของครู
       ไทเลอร์ (Tyler, 1949 : 79) ได้สรุปว่าหลักสูตร เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด โดยมีโรงเรียนเป็นผู้วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา
       ทาบา (Taba, 1962 : 11) ให้คำสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรอย่างสั้น ๆ ว่า หลักสูตรเป็นแผนการเกี่ยวกับการเรียนรู้
       กู๊ด (Good, 1973 : 157) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ ดังนี้ คือ
       1. หลักสูตร หมายถึง เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา เพื่อสำเร็จหรือรับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหนึ่ง
       2. หลักสูตร หมายถึง เค้าโครงสร้างทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอน ซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กเพื่อให้สำเร็จการศึกษาและสามารถเข้าศึกษาต่อในทางอาชีพต่อไป
       3. หลักสูตร หมายถึง กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนภายใต้การแนะนำของโรงเรียนและสถานศึกษา
       โอลิวา (Oliva, 1992 : 8-9) ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรโดยแบ่งเป็นการให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ บริบทหรือสภาพแวดล้อม และวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ ดังนี้
       1. การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ (Purpose) หลักสูตรจึงมีภาระหน้าทีที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไร หลักสูตรในแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายนั้น ๆ เช่น หลักสูตร คือ การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะการคิดผู้เรียน เป็นต้น
       2. การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Contexts) นิยามของหลักสูตร ในลักษณะนี้จึงเป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตรซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา หรือหลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือหลักสูตรที่เน้นการปฏิรูปสังคม เป็นต้น
       3. การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการนิยามในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอน เช่น หลักสูตร คือ กระบวนการแก้ปัญหา หลักสูตร คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่ม หลักสูตร คือ การเรียนรู้เป็นรายบุคคล หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
       โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียน ภายใต้การดำเนินงานของโรงเรียน และในทางปฏิบัติหลักสูตรประกอบด้วยจำนวนของแผนการต่าง ๆ ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และมีขอบเขตกว้างหลากหลาย เป็นแนวทางของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (course) หรือเป็นรายวิชาย่อยต่าง ๆ (sequence of courses) แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าวนี้อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอกชั้นเรียนหรือโรงเรียนก็ได้

ความเห็นของนักวิชาการไทย
       นักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศไทย ได้ให้คำจำกัดความของหลักสูตรไว้ดังนี้
       กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ(2521 : 12)ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ ข้อกำหนดที่ประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง แนวทาง วิธีการ เนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการเรียนการสอน   
       ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล (2529 : 10-11) กล่าวว่าหลักสูตร หมายถึง กิจกรรมหรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน
       สวัสดิ์ ประทุมราช และคณะ (2521 : 1) ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักสูตรว่า เป็นแผนหรือแนวทางของการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้พยายามจัดสรรประสบการณ์ทั้งมวล ตามที่หลักสูตรกำหนดให้แก่ผู้เรียนหรือเยาวชนในชาติได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามจุดหมายของการจัดการศึกษาชาตินั่นเอง
       มาเรียม นิลพันธุ์ (2543 : 6) หลักสูตร หมายถึง เอกสารข้อกำหนดเกี่ยวกับมวลประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาไปในแนวทางที่ต้องการ
       ศักดิ์ศรี ปาณะกุล (2543 : 2) หลักสูตร หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือผ่านการยกร่างอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหา กิจกรรม แนวทางหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
       นิรมล ศตวุฒิ (2543 : 87) หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง อันได้แก่ประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตร ประสบการณ์ในขั้นดำเนินการ อันได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหาวิชา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นผลของการจัดการเรียนการสอนอันได้แก่ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับไปแล้ว และจะนำไปใช้ต่อไปโดยสรุปผลที่ได้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินหลักสูตร
       กาญจนา คุณารักษ์ (2553 : 38) หลักสูตรคือ โครงการหรือแผน หรือข้อกำหนด อันประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง กิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ในสังคม และในโลกอย่างมีคุณภาพและอย่างมีความสุข
       วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554:6) วิเคราะห์ความหมายของหลักสูตรซึ่งโอลิวา (Oliva, 2009:3) ให้ไว้ พบว่าความหมายที่แคบของหลักสูตรคือ วิชาที่สอน ส่วนความหมายที่กว้างของหลักสูตรคือ มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับผู้เรียน ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม
       สุเทพ อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร หมายถึง ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้

สรุป
       จากความหมายข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า หลักสูตร คือ โครงสร้างของเนื้อหาวิชา หรือประสบการณ์ต่าง ๆ หรือศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์
       ถ้าจะอุปมาอุปมัยตามแนวความคิดของดิฉัน หลักสูตรก็เปรียบได้กับรถยนต์ ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ รถผลิตในประเทศ รถนำเข้าจากต่างประเทศ เล็กบ้างใหญ่บ้าง มีทั้งเก่าและใหม่ บางคนก็แสวงหารถใหม่มาใช้ แต่บางคนก็ยังอนุรักษ์ของเก่าอยู่ แต่บางคนก็มีทั้งสองอย่าง เลือกใช้ตามภารกิจและตามความพอใจ คือวิ่งระยะใกล้-ระยะไกล วิ่งนอกเมือง-ในเมือง สำหรับไปงานพิธีการหรือส่วนตัว ซึ่งก็เช่นเดียวกับความหมายของหลักสูตรที่มีความหลากหลาย มีทั้งหลักสูตรในระบบโรงเรียน-นอกระบบโรงเรียน อาจเป็นรายวิชา เป็นหน่วย เป็นแผนการ หรือโครงการ ซึ่งผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ จะเลือกใช้แบบใดก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นๆ ภายในหลักสูตรยังประกอบไปด้วยรายละเอียดของโครงสร้างหลักสูตร เช่น หลักการ จุดหมาย โครงสร้าง เนื้อหา วิธีการ เป็นต้น เช่นเดียวกับรถยนต์ซึ่งมีชิ้นส่วนต่างๆประกอบกันเข้าเป็นตัวรถ และทุกชิ้นส่วนล้วนมีความสำคัญที่ประกอบเข้ากันตามขั้นตอน หรือเป็นระบบ และรถยนต์จะวิ่งไปไม่ได้ถ้าปราศจากคนขับและไม่มีถนน เช่นเดียวกับหลักสูตรจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้ หรือผู้ปฏิบัติ ถึงแม้หลักสูตรจะดีอย่างไร แต่ถ้าผู้ใช้ไม่เข้าใจ ใช้ได้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่บรรลุเป้าหมาย รถยนต์ต้องวิ่งไปตามเส้นทาง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ หัวใจสำคัญคือคนขับ ระหว่างทางอาจเจอสภาพปัญหามากมาย เช่นทางแคบ ทางโค้ง ฝนตก ถนนลื่น เช่นเดียวกับผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ ต่างก็พบปัญหาและอุปสรรคมากมาย เช่นความไม่ชัดเจนของตัวหลักสูตร ความไม่เข้าใจของตัวครู ความไม่สนใจของนักเรียน ความไม่ใส่ใจของผู้บริหาร ขาดวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
                                                        %%%%%%%%%%%%%
อ้างอิง
กาญจนา คุณารักษ์. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล. การพัฒนาหลักสูตรจากแนวคิดสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : อักษรบัณฑิต, 2529. วิชัย วงษ์ใหญ่. นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้สู่ความเป็นพลเมือง. กรุงเทพฯ : อาร์ แอนด์ ปริ้นท์,  
          2554.
---------------- . การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษา.กรุงเทพฯ : อาร์ แอนด์ ปริ้นท์,2554.
สวัสดิ์ ประทุมราชและคณะ, การศึกษาความสอดคล้องระหว่างหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521.
          กรุงเทพฯ : เซ็นทรัลเอ็กเพรสศึกษา, 2521.
สุเทพ อ่วมเจริญ. การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎีและการปฏิบัติ. นครปฐม:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,
          2555.
โดย

สมาพร มณีอ่อน  สาขาหลักสูตรและการนิเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร