วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์ "เจ้าพ่อการตลาด"

 

          ไกรฤทธิ์ บุณยเกรียติ ผู้สร้างสรรค์ “เจ้าพ่อการตลาด” ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ไว้ เพื่อ
           1.เป็นกำลังใจ เพื่อนักขายและนักการตลาดทั้งหลาย ให้มองอะไร ให้กว้างและไกล คิดอะไรให้ลึก ในขณะที่ไต่บันไดชีวิตการตลาดของตนอยู่
           2. บอกกล่าวให้ผู้น้อยเนื้อต่ำใจทุกคน ว่ายังมีหนทางก้าวหน้าอยู่เสมอ ถ้าคุณช่วยตนเอง และเป็นคนดีอย่าง ฯพณฯสมชาย
          3. เป็นเรื่องราวสำหรับอ่านประกอบ เสริมประสบการณ์ทางการตลาดของนักเรียน ที่กำลังศึกษาด้านนี้ เพื่อสะท้อนประสบการณ์ และข้อสังเกตทางการตลาดในชีวิตจริง

           จากวัตถุประสงค์ของผู้เขียน “เจ้าพ่อการตลาด”ข้างต้น ประกอบกับการอ่านเรื่องราวชีวิตของ  เด็กชายสมชาย พัฒนาเป็นนายสมชาย บรรลุถึงฯพณฯสมชาย และในที่สุดเป็นพระภิกษุสมชาย โดยเนื้อหาเป็นชีวิตของนักการขาย (salesman) นักการตลาด (marketingman)ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด แล้วกลับคืนสู่สามัญ ด้วยการคิด การตัดสินใจของตนเอง ซึ่งเป็นทั้งอุทาหรณ์และแรงบันดาลใจ ของผู้ที่ดำเนินชีวิตหรือจะเลือกดำเนินชีวิต เป็นนักการขาย นักการตลาดก็ตาม แต่ก็สามารถนำเนื้อหา ข้อคิด ไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์ทางด้านศาสตร์ต่างๆได้หลายสาขา รวมทั้งศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนการสอน ปรัชญาการศึกษา รูปแบบของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กล่าวคือ

ทางด้านทฤษฎีการสอน
          ทักษะทางด้านการศึกษาของสมชาย ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทางสังคม การเมือง ตลอดจนชีวิตครอบครัว คือ ความสามารถทางภาษาต่างประเทศ หรือเชาว์ปัญญาทางภาษา ที่โดดเด่น ซึ่งเป็นการยืนยัน ทฤษฎีการสอนแบบพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งมีแนวคิดว่า “สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้าน ที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหน แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป” (Gradner,1983)
          การ์ดเนอร์ให้นิยามคำว่า เชาว์ปัญญา (Intelligence) ไว้ว่า “ความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมต่างๆ หรือการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง รวมทั้งความสามารถในการตั้งปัญหา เพื่อจะหาคำตอบและเพิ่มพูนความรู้” การ์ดเนอร์มีความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ
          1. เชาว์ปัญญาของมนุษย์ มิได้มีเพียงความสามารถทางภาษา และทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่มีอยู่หลากหลายถึง 8 ประเภทด้วยกัน ซึ่งเขาบอกว่า ความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ คนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากคนอื่น และมีความสามารถในด้านต่างๆไม่เท่ากัน ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมา ทำให้คนแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
          2. เชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคลจะไม่อยู่คงที่ อยู่ที่ระดับที่ตนมีตอนเกิด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม

ทางด้านปรัชญาการศึกษา
          การที่สมชายเป็นคนที่มีความขยันขันแข็ง อดทน มีมนุษยสัมพันธ์ มีความใฝ่สูงมองการณ์ไกล เป็นคนมีเหตุผลทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตทางสังคม เป็นคนดีมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เมื่อคราวที่สมชายอยู่ที่อังกฤษ ได้เกิดวิกฤติปัญหาด้านการตลาดกับบริษัทที่สมชายเคยทำงานตอนอยู่เมืองไทย สมชายยอมกลับมาช่วยตามคำขอร้องของประธานกรรมการบริษัท ที่มีบุญคุณต่อเขา ทั้งๆที่ถ้าเขาอยู่ที่ประเทศอังกฤษหน้าที่การงานของเขาจะก้าวหน้ากว่ามาก เป็นเพราะเขามีความกตัญญูกตเวที อันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของคนดี จึงปรับเข้ากับปรัชญาการศึกษา ปรัชญานิรันตรนิยม (Perennialism) (กาญจนา คุณารักษ์,2553:79-80) ซึ่งมีพื้นฐานความเชื่อ มาจากปรัชญานวโทมัส (neo-Thomism) มีต้นคิดมาจากอริสโตเติล (Aristotle) และเซนต์ โทมัส อควิแนส (St. Thomas Aquinas) ซึ่งสนใจในเรื่องของเหตุผล (a word of reason) กล่าวคือ มีความเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถที่จะใช้ความคิด ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้ สิ่งมีชีวิตอื่นๆไม่มีและทำไม่ได้ มนุษย์ใช้ความคิดและเหตุผลที่ติดตัวมาแต่กำเนิดตลอดเวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ ความรู้มิได้เกิดจากการประจักษ์หรืออายตนะ แต่เกิดจากการหาเหตุผล ส่วนความดีและความงามนั้นเชื่อว่า การพัฒนาความดีของแต่ละคนไม่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม หากต้องอาศัยวินัยในตนเอง และยึดมั่นในสิ่งที่ดีงาม ความเชื่อพื้นฐานของนักปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดนิรันตรนิยม คือ
          1. มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผล มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความดีอยู่ในตน และสนใจต่อศาสนาโดยกำเนิดอยู่ในตัว           2. ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์จะยังคงเหมือนกันอยู่ทุกกาลเทศะ แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะแตกต่างกัน หรือเปลี่ยนแปลงไป ความจริงย่อมเหมือนกันทุกแห่งหน
          3. สิ่งที่ถือว่าสำคัญสูงสุดของมนุษย์ คือ สติปัญญา และความมีอิสระ
          4. มนุษย์มีความจำเป็นในการสืบทอดวัฒนธรรม

ทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน
          การประสบความสำเร็จในอาชีพนักการตลาดขั้นสูงสุดของสมชาย เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน เริ่มจากการเป็นนักการขาย (salesman) ตระเวนเสนอขายสินค้าตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ทำให้สมชายมีความรู้ในความต้องการ ลักษณะ และแนวโน้มในการบริโภคของประชาชน เมื่อสมชายมีโอกาสได้เป็นผู้จัดการฝ่ายตลาดของบริษัท แมส คอนซูมเมอร์ มาร์เกตติ้ง สาขาประเทศไทย เขาได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์จากที่เคยเป็นนักการขาย มาใช้ในการวิเคราะห์ตลาด และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนกระทั่งได้เป็นประธานกรรมการของบริษัทฯสาขาประเทศไทย จากความรู้ ความสามารถในการบริหารธุรกิจของเขาทำให้ชีวิตหักเหให้เขาได้เป็น ผู้ว่าการการน้ำมันแห่งชาติ จนในที่สุดได้เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศปาซีเฟีย เขาก็ใช้ประสบการณ์ และการมีมนุษยสัมพันธ์ มาใช้ในการแก้ปัญหาสำคัญๆให้ลุล่วงไปทุกครั้ง ถ้าวิเคราะห์พฤติกรรมการดำเนินชีวิตนักการตลาดของ ฯพณฯสมชาย กับรูปแบบของหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน ก็สามารถปรับเข้าได้กับ หลักสูตรประสบการณ์ (Experience Curriculum) ซึ่งยึดหลักการที่ว่า “การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ และประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงเน้นเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนโดยวิธีการแก้ปัญหา ผู้เรียนต้องรู้จักการแก้ปัญหา แสดงออกด้วยการลงมือกระทำ ลงมือวางแผน เพื่อหาประสบการณ์อันเกิดจากการแก้ปัญหานั้นๆด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนแบบการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (Learning by Doing)
          ในการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ (Experience Learning) ทิศา แขมณี (2545:131) ให้ความหมายและหลักการไว้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ หมายถึง การดำเนินการอันจะช่วยให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายโดยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ (experience) ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ในเรื่องที่เรียนรู้ก่อน และให้ผู้เรียนสังเกต ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองร่วมกัน จนกระทั่งผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสมมติฐานต่างๆในเรื่องที่เรียนรู้ แล้วจึงนำความคิด หรือสมมติฐานเหล่านั้นไปทดลอง หรือประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆต่อไป ประสบการณ์เป็นแหล่งที่มาของการเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเกิดความคิด ความรู้ และการกระทำต่างๆ (Kolb, 1984) ได้เสนอวัฏจักรของกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือ
          1. ขั้นการรับประสบการณ์ (Concrete Experience = CE)
          2. ขั้นการสังเกตอย่างไตร่ตรอง (Reflective Observation = RO)
          3. ขั้นการสร้างแนวคิดเชิงนามธรรม (Abstract Conceptualization = AC) และ
          4. ขั้นการทดลองประยุกต์หลักการไปใช้ในสภาพการณ์ใหม่ (Active Experimentation = AE)

ทางด้านพุทธปรัชญา
          ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของ ฯพณฯสมชาย ย่อมมีความเสื่อมและดับไป ในบั้นปลายชีวิตของสมชาย       ต้องสูญเสีย บุตร ภรรยาอันเป็นที่รัก ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันทรงเกรียติ ในที่สุดสมชายก็ได้สละทุกสิ่งทุกอย่างในทางโลกเข้าหาร่มกาสาวพัสตร์ บวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนาที่บ้านเกิด จ.สงขลา ซึ่งก็เป็นไปตามสัจธรรมของโลก ใน อภิปรัชญาพุทธศาสน์ ขอบข่ายแนวคิดหนึ่งของ พุทธปรัชญา (กาญจนา คุณารักษ์,2553:90,102) ซึ่งหมายถึง ปัญญาหรือความรู้แจ้งในความเป็นจริงทั้งหลาย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม พุทธปรัชญาเป็นปรัชญาสัจนิยม เป็นความรู้อันประเสริฐ อันเลิศอันสูงสุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากญาณ (insight) อันเป็นผลของการปฏิบัติจิต อภิปรัชญาพุทธศาสน์ เป็นพุทธปรัชญาที่ว่าด้วยความจริงทั้งหลาย เรียกว่า สัจธรรมซึ่งมีหลายด้าน สำหรับสัจจธรรมเกี่ยวกับโลก พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริง เกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงในโลกหลายประการเฉพาะความจริงของสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลกนี้ มีสามลักษณะ เรียกว่า ไตรลักษณ์ (three characteristics of existence) ประกอบด้วย
          1. อนิจจตา (impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
          2. ทุกขตา (stress and conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่ง ให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้
          3. อนัตตตา (saullessness) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนของมันเอง
                                                      ----------------------------
อ้างอิง
กาญจนา คุณารักษ์. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร. นครปฐม:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ไกรฤทธิ์ บุณยเกีรติ. เจ้าพ่อการตลาด.กรุงเทพฯ:สารมวลชน, 2532.
ทิศนา แขมณี. ศาสตร์การสอน:องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ:       
          สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.
rppiyachan.file.wordpress.com
                                                          ---------------------------

โดย

สมาพร มณีอ่อน  สาขาหลักสูตรและการนิเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น