วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หลักสูตร คืออะไร

 

ความหมายทั่วไปของหลักสูตร
       คำว่า “หลักสูตร” ภาษาอังกฤษ เขียนว่า Curriculum มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “currere” หมายถึง “race – course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งขัน เมื่อนำมาใช้ในบริบทของการศึกษา จึงหมายถึง running sequence of courses or learning experience เปรียบเสมือน เส้นทางที่ผู้เรียน จะต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ นำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ (วิชัย วงษ์ใหญ่,2554:105)
       ความหมายของ“หลักสูตร” ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2546 คือ ประมวลวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการศึกษา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ความหมายของหลักสูตรของนักวิชาการต่างประเทศ
       ความหมายของหลักสูตร ตามความเชื่อทางการศึกษาและความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในส่วนนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของหลักสูตรไว้ โดยสรุปดังนี้ (มาเรียม นิลพันธุ์,2543 : 6)
       คาสเวลและแคมเบล (Caswell and Cambell, 1935 : 66) ได้ให้คำจำกัดความว่า หลักสูตรเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยประสบการณ์ทั้งมวลของเด็ก ภายใต้การแนะแนวของครู
       ไทเลอร์ (Tyler, 1949 : 79) ได้สรุปว่าหลักสูตร เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด โดยมีโรงเรียนเป็นผู้วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา
       ทาบา (Taba, 1962 : 11) ให้คำสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรอย่างสั้น ๆ ว่า หลักสูตรเป็นแผนการเกี่ยวกับการเรียนรู้
       กู๊ด (Good, 1973 : 157) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ ดังนี้ คือ
       1. หลักสูตร หมายถึง เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา เพื่อสำเร็จหรือรับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหนึ่ง
       2. หลักสูตร หมายถึง เค้าโครงสร้างทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอน ซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กเพื่อให้สำเร็จการศึกษาและสามารถเข้าศึกษาต่อในทางอาชีพต่อไป
       3. หลักสูตร หมายถึง กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนภายใต้การแนะนำของโรงเรียนและสถานศึกษา
       โอลิวา (Oliva, 1992 : 8-9) ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรโดยแบ่งเป็นการให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ บริบทหรือสภาพแวดล้อม และวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ ดังนี้
       1. การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์ (Purpose) หลักสูตรจึงมีภาระหน้าทีที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไร หลักสูตรในแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายนั้น ๆ เช่น หลักสูตร คือ การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ การพัฒนาทักษะการคิดผู้เรียน เป็นต้น
       2. การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Contexts) นิยามของหลักสูตร ในลักษณะนี้จึงเป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตรซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา หรือหลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือหลักสูตรที่เน้นการปฏิรูปสังคม เป็นต้น
       3. การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการนิยามในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอน เช่น หลักสูตร คือ กระบวนการแก้ปัญหา หลักสูตร คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่ม หลักสูตร คือ การเรียนรู้เป็นรายบุคคล หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
       โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียน ภายใต้การดำเนินงานของโรงเรียน และในทางปฏิบัติหลักสูตรประกอบด้วยจำนวนของแผนการต่าง ๆ ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และมีขอบเขตกว้างหลากหลาย เป็นแนวทางของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (course) หรือเป็นรายวิชาย่อยต่าง ๆ (sequence of courses) แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าวนี้อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอกชั้นเรียนหรือโรงเรียนก็ได้

ความเห็นของนักวิชาการไทย
       นักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศไทย ได้ให้คำจำกัดความของหลักสูตรไว้ดังนี้
       กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ(2521 : 12)ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ ข้อกำหนดที่ประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง แนวทาง วิธีการ เนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการเรียนการสอน   
       ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล (2529 : 10-11) กล่าวว่าหลักสูตร หมายถึง กิจกรรมหรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน
       สวัสดิ์ ประทุมราช และคณะ (2521 : 1) ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักสูตรว่า เป็นแผนหรือแนวทางของการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้พยายามจัดสรรประสบการณ์ทั้งมวล ตามที่หลักสูตรกำหนดให้แก่ผู้เรียนหรือเยาวชนในชาติได้พัฒนาตนเอง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามจุดหมายของการจัดการศึกษาชาตินั่นเอง
       มาเรียม นิลพันธุ์ (2543 : 6) หลักสูตร หมายถึง เอกสารข้อกำหนดเกี่ยวกับมวลประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาไปในแนวทางที่ต้องการ
       ศักดิ์ศรี ปาณะกุล (2543 : 2) หลักสูตร หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือผ่านการยกร่างอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหา กิจกรรม แนวทางหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
       นิรมล ศตวุฒิ (2543 : 87) หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง อันได้แก่ประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตร ประสบการณ์ในขั้นดำเนินการ อันได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหาวิชา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นผลของการจัดการเรียนการสอนอันได้แก่ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับไปแล้ว และจะนำไปใช้ต่อไปโดยสรุปผลที่ได้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินหลักสูตร
       กาญจนา คุณารักษ์ (2553 : 38) หลักสูตรคือ โครงการหรือแผน หรือข้อกำหนด อันประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง กิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ในสังคม และในโลกอย่างมีคุณภาพและอย่างมีความสุข
       วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554:6) วิเคราะห์ความหมายของหลักสูตรซึ่งโอลิวา (Oliva, 2009:3) ให้ไว้ พบว่าความหมายที่แคบของหลักสูตรคือ วิชาที่สอน ส่วนความหมายที่กว้างของหลักสูตรคือ มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับผู้เรียน ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม
       สุเทพ อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร หมายถึง ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้

สรุป
       จากความหมายข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า หลักสูตร คือ โครงสร้างของเนื้อหาวิชา หรือประสบการณ์ต่าง ๆ หรือศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์
       ถ้าจะอุปมาอุปมัยตามแนวความคิดของดิฉัน หลักสูตรก็เปรียบได้กับรถยนต์ ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ รถผลิตในประเทศ รถนำเข้าจากต่างประเทศ เล็กบ้างใหญ่บ้าง มีทั้งเก่าและใหม่ บางคนก็แสวงหารถใหม่มาใช้ แต่บางคนก็ยังอนุรักษ์ของเก่าอยู่ แต่บางคนก็มีทั้งสองอย่าง เลือกใช้ตามภารกิจและตามความพอใจ คือวิ่งระยะใกล้-ระยะไกล วิ่งนอกเมือง-ในเมือง สำหรับไปงานพิธีการหรือส่วนตัว ซึ่งก็เช่นเดียวกับความหมายของหลักสูตรที่มีความหลากหลาย มีทั้งหลักสูตรในระบบโรงเรียน-นอกระบบโรงเรียน อาจเป็นรายวิชา เป็นหน่วย เป็นแผนการ หรือโครงการ ซึ่งผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ จะเลือกใช้แบบใดก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นๆ ภายในหลักสูตรยังประกอบไปด้วยรายละเอียดของโครงสร้างหลักสูตร เช่น หลักการ จุดหมาย โครงสร้าง เนื้อหา วิธีการ เป็นต้น เช่นเดียวกับรถยนต์ซึ่งมีชิ้นส่วนต่างๆประกอบกันเข้าเป็นตัวรถ และทุกชิ้นส่วนล้วนมีความสำคัญที่ประกอบเข้ากันตามขั้นตอน หรือเป็นระบบ และรถยนต์จะวิ่งไปไม่ได้ถ้าปราศจากคนขับและไม่มีถนน เช่นเดียวกับหลักสูตรจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้ หรือผู้ปฏิบัติ ถึงแม้หลักสูตรจะดีอย่างไร แต่ถ้าผู้ใช้ไม่เข้าใจ ใช้ได้ไม่ดีไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่บรรลุเป้าหมาย รถยนต์ต้องวิ่งไปตามเส้นทาง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ หัวใจสำคัญคือคนขับ ระหว่างทางอาจเจอสภาพปัญหามากมาย เช่นทางแคบ ทางโค้ง ฝนตก ถนนลื่น เช่นเดียวกับผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ ต่างก็พบปัญหาและอุปสรรคมากมาย เช่นความไม่ชัดเจนของตัวหลักสูตร ความไม่เข้าใจของตัวครู ความไม่สนใจของนักเรียน ความไม่ใส่ใจของผู้บริหาร ขาดวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
                                                        %%%%%%%%%%%%%
อ้างอิง
กาญจนา คุณารักษ์. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล. การพัฒนาหลักสูตรจากแนวคิดสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : อักษรบัณฑิต, 2529. วิชัย วงษ์ใหญ่. นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้สู่ความเป็นพลเมือง. กรุงเทพฯ : อาร์ แอนด์ ปริ้นท์,  
          2554.
---------------- . การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษา.กรุงเทพฯ : อาร์ แอนด์ ปริ้นท์,2554.
สวัสดิ์ ประทุมราชและคณะ, การศึกษาความสอดคล้องระหว่างหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521.
          กรุงเทพฯ : เซ็นทรัลเอ็กเพรสศึกษา, 2521.
สุเทพ อ่วมเจริญ. การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎีและการปฏิบัติ. นครปฐม:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,
          2555.
โดย

สมาพร มณีอ่อน  สาขาหลักสูตรและการนิเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น