วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ข้อคิดเห็นจากการอ่าน "การพัฒนาหลักสูตร"


ข้อคิดเห็นจากการอ่าน

“การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ”

                ได้อ่านหนังสือ ชื่อ “การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ” ซึ่งเขียนโดย ท่านอาจารย์ ผศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ แล้ว  ขออนุญาตนำวิธีการของกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้การวิจัยเป็นฐาน มาประกอบการแสดงความคิดเห็น ดังนี้

                ขั้นที่ 1 การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ผู้เขียนได้วิเคราะห์สาระความรู้ “การพัฒนาหลักสูตร” จากมาตรฐานคุรุสภา  โดยนำมาจัดระบบเรียบเรียงตามกระบวนการพัฒนาหลักสูตร การวางแผนหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การจัดระบบหลักสูตร และการประเมินหลักสูตร ได้นำเสนอแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
หลักสูตร และปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตร

                ขั้นที่ 2 กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของแต่ละหน่วย และแต่ละบทเรียน มีการกำหนดเนื้อหาสาระ
ในแต่ละบทเรียนไว้อย่างชัดเจน เช่น บทที่ 1 การพัฒนาหลักสูตร : นิยาม แบบจำลอง และทฤษฎีหลักสูตร และได้กำหนดผลการเรียนรู้ เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น

                ขั้นที่ 3 การพัฒนาบทเรียน
                1. การออกแบบการเรียนรู้
                2. การกำหนดคุณลักษณะของเครื่องมือ มีการประเมิน มีการประเมินจากกิจกรรมท้ายบท ให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ให้ทำการวิพากษ์ วิจารณ์ สังเคราะห์ วิเคราะห์ ตามประเด็นที่กำหนดให้ เช่น การวิเคราะห์ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กับทฤษฎีหลักสูตร การศึกษาแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร และเลือกมาใช้พัฒนา
หลักสูตร เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ด้วนตนเอง (Constructivist Learning Approach)
                3. การออกแบบหรือเลือกเครื่องมือประเมิน เครื่องมือประเมินที่เป็นกิจกรรมท้ายบท มีความสอดคล้องเหมาะสมกับเนื้อหาของแต่ละบท คำถามในแต่ละกิจกรรมมีความหลากหลาย เน้นให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจบทเรียนอย่างลึกซึ้ง แตกฉาน เชื่อมโยงกับการนำไปใช้จริงกับภาระงานที่ปฏิบัติอยู่

                ขั้นที่ 4 การเรียนการสอน/การเรียนรู้
                1. มีการวิเคราะห์จุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ชัดเจน ว่าต้องการให้ครู อาจารย์ ผู้สอน ทุกคนได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และให้โรงเรียนหรือสถาบัน ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการศึกษา ใช้เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจในการจัดการศึกษา และกำกับดูแลหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
                2. การวางแผนการจัดการเรียนรู้ มีการกำหนดขอบข่ายของเนื้อหาของเอกสารไว้จำนวน 5 บท โดยเรียงลำดับเนื้อหา  เป็นไปตามลำดับขั้นการเรียนรู้ จากสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก่อนไปหาสิ่งที่ต้องเรียนรู้ทีหลัง เริ่มจาก
                - บทที่ 1 การพัฒนาหลักสูตร : นิยาม แบบจำลอง และทฤษฎีหลักสูตร
                - บทที่ 2 การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning)
                - บทที่ 3 การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design)
                - บทที่ 4 การจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize)
                - บทที่ 5 การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation)
                3. การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ นอกจากการทำกิจกรรมข้างท้ายของแต่ละบทแล้ว ตอนต้นของเอกสารได้กำหนดกิจกรรมของการเรียนรู้ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่
                1) การศึกษาเรียนรู้และการสะท้อนความคิดเห็น
                2) การมีส่วนร่วม สัมมนา อภิปราย
                3) การสืบเสาะค้นหา เพื่อสรุป และนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร
                4) วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมินแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร
                5) การเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัย และสร้างสรรค์ กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
                4. การสรุป/การวิพากษ์ความรู้ มีการสรุปความรู้เป็นลำดับขั้น แยกเป็นประเด็นเรียงลำดับตามหัวข้อ
 มีตาราง แผนภูมิ แผนภาพประกอบ ทำให้อ่าน และทำความเข้าใจได้โดยง่าย และในภาคผนวก ได้มีตัวอย่างชิ้นงาน สรุปการเรียนรู้ “การพัฒนาหลักสูตร” ทำให้เกิดมโนทัศน์ เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                ขั้นที่ 5 การประเมินคุณภาพ
                 ได้กำหนดผลการเรียนรู้หลังจากศึกษาเอกสาร คือ
                    5.1 มีความรู้ในสาระสำคัญ ในการนิยามคำว่า หลักสูตร และงานการพัฒนาหลักสูตร
                    5.2 มีความสามารถในการจำแนกสาระที่เป็นปัจจัยสำคัญ ในการให้ความหมายของทฤษฎีหลักสูตร
                    5.3 ได้ประสบการณ์การเรียนรู้ในการวางแผน ออกแบบ จัดระบบ และประเมินด้านหลักสูตร
                    5.4 มีความสามารถในการสร้างหลักสูตร โดยอาศัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
                    5.5 มีความสามารถในการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตร

                ประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้จากการอ่าน
                กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ (Tyler’s Model Curriculum Development)
                การตอบคำถามข้อที่ 1 จะเอาอะไรมาสอน แหล่งข้อมูลจากตัวผู้เรียน ข้อมูลจากผู้รู้ และข้อมูลพื้นฐานทางสังคม
                การตอบคำถามข้อที่ 2 นำข้อมูลที่ได้เข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง ดูพื้นฐานทางปรัชญา (Philosophy) พื้นฐานทางจิตวิทยา (Psychology) และพื้นฐานทางสังคม (Social) และทำการออกแบบ (Design)
                การตอบคำถามข้อที่ 3 จะจัดการสอนให้ผู้เรียนอย่างไร ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักสูตร
               การตอบคำถามข้อที่ 4 การประเมิน (Evaluation) ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ แบ่งการประเมินเป็น 2 ส่วน คือ
                    1) ประเมินหลักสูตร
                    2) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
               กระบวนการพัฒนาหลักสูตร ตามหลักการของไทเลอร์ ในข้อที่ 4 การประเมินว่าหลักสูตรมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลหรือไม่ โดยประเมินที่ตัวหลักสูตรและผลสัมฤทธิ์เท่านั้น ซึ่งคิดว่ายังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนอีกหลายประการ เช่น คุณภาพของครูผู้สอน การบริหารจัดการ วิธีปฏิบัติการนำหลักสูตรสู่ห้องเรียน ตัวนักเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ปกครอง เป็นต้น

                ครูที่ดีใช้แทนหลักสูตรที่ไม่ดีได้ แต่หลักสูตรที่ดีใช้แทนครูที่ไม่ดีไม่ได้ หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็ผ่านกระบวนการสร้าง และพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมากมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้ผลผลิต หรือตัวผู้เรียนมีคุณภาพสูงขึ้นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ ปัจจัยที่จะทำให้คุณภาพผู้เรียนสูงขึ้นมีมากมาย ไม่ใช่เพียงเฉพาะ
ตัวหลักสูตร ความรู้ความสามารถของครูในการใช้หลักสูตร และการนำหลักสูตรลงสู่ห้องเรียน ยังมี Inputs ต่างๆ อีก เช่น ตัวผู้เรียน สื่ออุปกรณ์ การบริหารจัดการภายในโรงเรียน เป็นต้น  นอกจากนั้นหัวใจของการพัฒนาผู้เรียน คือครู เมื่อจะกำหนดหลักสูตรแบบใด ก็ต้องพัฒนาครูควบคู่ไปด้วย ที่ผ่านมาต้องใช้เวลามากในการทำความเข้าใจกับการใช้หลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง และเห็นด้วยกับ โบแชมป์ (Beauchamp,1975:164-169) ที่กล่าวว่าสิ่งที่ควรคำนึงถึง ในการนำหลักสูตรไปใช้ ให้เห็นผลตามเป้าหมาย คือครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร ผู้บริหารต้องเน้นความสำคัญ และสนับสนุน แต่ในสภาพความเป็นจริง คือ หลักสูตรถูกจัดทำไว้แล้วในภาพใหญ่เป็นแกนกลาง 70% และให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรที่เป็นสาระเพิ่มเติมเป็นของโรงเรียน 30% แต่ครูที่จัดทำก็มักเป็นครูวิชาการเสียส่วนใหญ่ ครูผู้สอนเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย ปัญหาที่สำคัญ คือ โรงเรียนจัดทำหลักสูตรไว้ แต่การใช้หลักสูตรยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะครูบางส่วนให้ความสำคัญกับหนังสือเรียนจากสำนักพิพพ์มากกว่า

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น