กิจกรรมที่ 1: ปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรตามความสนใจ
ตามประเด็นสำคัญต่อไปนี้
1.1
ศึกษานิยาม/ความหมาย “หลักสูตร” แล้วสรุปนิยาม/ความหมาย “หลักสูตร”
ความหมายทั่วไปของหลักสูตร
คำว่า “หลักสูตร” ภาษาอังกฤษ เขียนว่า
Curriculum มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “currere” หมายถึง “race – course”
หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งขัน เมื่อนำมาใช้ในบริบทของการศึกษา จึงหมายถึง running
sequence of courses or learning experience เปรียบเสมือน
เส้นทางที่ผู้เรียน จะต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ นำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ
(วิชัย วงษ์ใหญ่,2554:105)
ความหมายของ“หลักสูตร” ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2546 คือ ประมวลวิชาและกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการศึกษา
เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ความหมายของหลักสูตรของนักวิชาการต่างประเทศ
ความหมายของหลักสูตร
ตามความเชื่อทางการศึกษาและความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในส่วนนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ
ได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของหลักสูตรไว้ โดยสรุปดังนี้ (สุเทพ อ่วมเจริญ,2555 : 2-3)
บอบบิต (Bobbit, F. 1918) อธิบายคำว่า หลักสูตร
หมายถึง วิถีทางที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่เด็กแต่ละคน จะต้องก้าวผ่าน เพื่อเติบโตขึ้น
นอกจากโรงเรียนแล้ว ประสบการณ์นอกโรงเรียนก็นับเป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน
เซเลอร์
อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (Salor, Alexzander
and Lewis 1981) ได้ให้คำนิยาม หลักสูตรไว้ว่า
หลักสูตร คือ การจัดเตรียมมวลประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสัมฤทธิ์ผล
ความมุ่งหมายทางการศึกษาอย่างกว้างๆ และจุดมุ่งหมายเฉพาะโรงเรียน
ปริ้น
(Print.M., 1993:9) ได้ศึกษานิยามของนักพัฒนาหลักสูตรแล้ว สรุปว่า
หลักสูตรจะกล่าวถึง
· แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
· สิ่งที่เสนอในสถาบันการศึกษา/โปรแกรมการศึกษา
· การนำเสนอในรูปเอกสาร
· รวมถึงผลของประสบการณ์จากการนำเอกสารต่างๆไปใช้
สมิธ
(Smith,M.K. 1996) “ได้ให้แนวคิดในการนิยาม “หลักสูตร”
ตามทฤษฎีและการปฏิบัติหลักสูตร
4 ทิศทาง ดังนี้
1.หลักสูตรเป็นองค์ความรู้ที่จะส่งผ่านให้ผู้เรียน
2.หลักสูตรเป็นความพยายามที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์
3.หลักสูตรเป็นกระบวนการ
4.หลักสูตรเป็น
Praxis หมายถึง
การปฏิบัติของมนุษย์และความเข้าใจในการปฏิบัตินั้น
โอลิว่า
(Oliva, 1997) สรุปไว้ว่าหลักสูตร หมายถึง :
· สิ่งที่นำมาสอนในโรงเรียน
· ชุดของวิชา
· เนื้อหาวิชา
· โปรแกรมการเรียนของนักเรียน
· ชุดของวัสดุ
· ลำดับของรายวิชา
· ชุดของจุดประสงค์การปฏิบัติ
· รายวิชาที่เรียน
· เป็นทุกสิ่งที่ช่วยให้โรงเรียนก้าวหน้าไป
รวมถึงกิจกรรมเสริมในชั้นเรียน การแนะแนว และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล
· ทุกๆสิ่งที่เป็นแผนงานของบุคลากรในโรงเรียน
· เป็นอนุกรมของประสบการณ์โดยผู้เรียนในโรงเรียน
· ประสบการณ์ของผู้เรียนแต่ละคนที่เป็นผลจากการศึกษาเล่าเรียน
นอกจากนี้
ผศ. ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ ยังได้รวบรวมแนวคิดของนักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ
เกี่ยวกับความหมายของหลักสูตร นอกจากที่กล่าวมาแล้ว (มาเรียม นิลพันธุ์,2543 : 6) ดังนี้
คาสเวลและแคมเบล
(Caswell and Cambell, 1935 : 66) ได้ให้คำจำกัดความว่า
หลักสูตรเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยประสบการณ์ทั้งมวลของเด็ก ภายใต้การแนะแนวของครู
ไทเลอร์
(Tyler, 1949 : 79) ได้สรุปว่าหลักสูตร เป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ทั้งหมด
โดยมีโรงเรียนเป็นผู้วางแผนและกำกับเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา
ทาบา (Taba, 1962 : 11) ให้คำสรุปเกี่ยวกับหลักสูตรอย่างสั้น
ๆ ว่า หลักสูตรเป็นแผนการเกี่ยวกับการเรียนรู้
กู๊ด
(Good, 1973 : 157) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 3 ประการ
ดังนี้ คือ
1.หลักสูตร หมายถึง
เนื้อหาวิชาที่จัดไว้เป็นระบบให้ผู้เรียนได้ศึกษา
เพื่อสำเร็จหรือรับประกาศนียบัตรในสาขาวิชาหนึ่ง
2.หลักสูตร หมายถึง
เค้าโครงสร้างทั่วไปของเนื้อหาหรือสิ่งเฉพาะที่จะต้องสอน
ซึ่งโรงเรียนจัดให้แก่เด็กเพื่อให้สำเร็จการศึกษาและสามารถเข้าศึกษาต่อในทางอาชีพต่อไป
3.หลักสูตร หมายถึง
กลุ่มวิชาและการจัดประสบการณ์ที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียนภายใต้การแนะนำของโรงเรียนและสถานศึกษา
โอลิวา (Oliva, 1992 : 8-9) ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรโดยแบ่งเป็นการให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์
บริบทหรือสภาพแวดล้อม และวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์
(Purpose)
หลักสูตรจึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไร
หลักสูตรในแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายนั้น
ๆ เช่น หลักสูตร คือ การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม หลักสูตร คือ
การพัฒนาทักษะการคิดผู้เรียน เป็นต้น
2.การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Contexts) นิยามของหลักสูตร ในลักษณะนี้จึงเป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตรซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร
เช่น หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา หรือหลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
หรือหลักสูตรที่เน้นการปฏิรูปสังคม เป็นต้น
3.การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการการหรือยุทธศาสตร์
(Strategies)
เป็นการนิยามในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ
ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอน เช่น หลักสูตร คือ
กระบวนการแก้ปัญหา หลักสูตร คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่ม หลักสูตร
คือ การเรียนรู้เป็นรายบุคคล หลักสูตร คือ โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน
เป็นต้น
โอลิวา
ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตร คือ
แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียน
ภายใต้การดำเนินงานของโรงเรียน
และในทางปฏิบัติหลักสูตรประกอบด้วยจำนวนของแผนการต่าง ๆ
ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และมีขอบเขตกว้างหลากหลาย เป็นแนวทางของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ
ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit)
เป็นรายวิชา (course) หรือเป็นรายวิชาย่อยต่าง
ๆ (sequence of courses) แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าวนี้อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอก
ชั้นเรียนหรือโรงเรียนก็ได้
ความเห็นของนักวิชาการไทย
นักวิชาการและนักการศึกษาในประเทศไทย
ได้ให้คำจำกัดความของหลักสูตรไว้ ดังนี้
กรมวิชาการ
กระทรวงศึกษาธิการ(2521 : 12)ให้ความหมายว่า หลักสูตร คือ ข้อกำหนดที่ประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย
โครงสร้าง แนวทาง วิธีการ เนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการเรียนการสอน
ธวัชชัย
ชัยจิรฉายากุล (2529 : 10-11) กล่าวว่าหลักสูตร หมายถึง
กิจกรรมหรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับผู้เรียน
สวัสดิ์
ประทุมราช และคณะ (2521 : 1) ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักสูตรว่า เป็นแผนหรือแนวทางของการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน
ที่ชี้แนะให้ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์
ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้พยายามจัดสรรประสบการณ์ทั้งมวล
ตามที่หลักสูตรกำหนดให้แก่ผู้เรียนหรือเยาวชนในชาติได้พัฒนาตนเอง
ทั้งในด้านความรู้ ทักษะและคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามจุดหมายของการจัดการศึกษาชาตินั่นเอง
มาเรียม
นิลพันธุ์ (2543 : 6) หลักสูตร หมายถึง เอกสารข้อกำหนดเกี่ยวกับมวลประสบการณ์
เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาไปในแนวทางที่ต้องการ
ศักดิ์ศรี
ปาณะกุล (2543 : 2) หลักสูตร หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการ
หรือผ่านการยกร่างอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยรายละเอียดของหลักการ จุดหมาย โครงสร้างเนื้อหา
กิจกรรม แนวทางหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
นิรมล
ศตวุฒิ (2543 : 87) หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมดที่ผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
ซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง
อันได้แก่ประสบการณ์เรียนรู้ที่กำหนดไว้ในจุดหมายของหลักสูตร ประสบการณ์ในขั้นดำเนินการ
อันได้แก่ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหาวิชา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นผลของการจัดการเรียนการสอนอันได้แก่ประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับไปแล้ว
และจะนำไปใช้ต่อไปโดยสรุปผลที่ได้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการประเมินหลักสูตร
กาญจนา
คุณารักษ์ (2553 : 38) หลักสูตรคือ โครงการหรือแผน หรือข้อกำหนด
อันประกอบด้วยหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง
กิจกรรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้
ความสามารถและประสบการณ์ โดยส่งเสริมให้เอกัตบุคคลไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตนเอง
รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ในสังคม
และในโลกอย่างมีคุณภาพและอย่างมีความสุข
วิชัย
วงษ์ใหญ่ (2554:6) วิเคราะห์ความหมายของหลักสูตรซึ่งโอลิวา (Oliva, 2009:3) ให้ไว้
พบว่าความหมายที่แคบของหลักสูตรคือ วิชาที่สอน ส่วนความหมายที่กว้างของหลักสูตรคือ
มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้กับผู้เรียน ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม
ธำรง
บัวศรี (2542 : 7) ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตร คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อแสดงจุดหมาย
การจัดเนื้อหากิจกรรม และประมวลประสบการณ์ ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา
เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามจุดหมายที่กำหนดไว้
สุเทพ
อ่วมเจริญ (2555:4) สรุปว่าหลักสูตร หมายถึง
ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อนำไปกำหนดวิถีทางที่นำไปสู่การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้
สรุปความหมาย “หลักสูตร”
จากความหมายข้างต้น
พอจะสรุปได้ว่า
หลักสูตร คือ โครงสร้างของเนื้อหาวิชา หรือประสบการณ์ต่าง ๆ
หรือศาสตร์ต่างๆ ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์
1.2 วิพากษ์/นิยาม ความหมายของหลักสูตร
การให้ความหมาย
“หลักสูตร”ของนักการศึกษาต่างประเทศ และนักการศึกษาไทยแตกต่างกันมากมาย
เนื่องจากคำว่า “หลักสูตร”มีความหมายกว้าง และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรายวิชาที่อยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น
แต่มีความหมายที่หลากหลาย ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่อยู่นอกห้องเรียน
บ้างก็ว่าคือข้อกำหนด บ้างก็ว่าคือแผนงาน บ้างก็ว่าคือประสบการณ์
การให้คำนิยามดังกล่าวอยู่ที่ความเชื่อ ความเข้าใจ และมวลประสบการณ์เดิมของคนนั้นๆ
นอกจากนั้นก็ให้นิยามตามวิธีดำเนินการ กระบวนการ ยุทธศาสตร์ หรือแม้แต่เทคนิค
วิธีจัดการเรียนการสอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น